มารายห์ แครี
มารายห์ แครี | |
---|---|
แครีย์ใน ค.ศ. 2023 | |
เกิด | ฮันทิงตัน, รัฐนิวยอร์ก, สหรัฐ | 27 มีนาคม ค.ศ. 1969
การศึกษา | ไฮสกูลฮาร์เบอร์ฟีลส์ |
อาชีพ | นักร้อง • นักแต่งเพลง • นักแสดง • โปรดิวเซอร์เพลง |
ปีปฏิบัติงาน | 1988–ปัจจุบัน |
คู่สมรส |
|
บุตร | 2 |
รางวัล | รายชื่อ |
อาชีพทางดนตรี | |
แนวเพลง | อาร์แอนด์บี • โซล • ฮิปฮอป • ป็อป |
ค่ายเพลง | โคลัมเบีย • เครฟ • เวอร์จิน • MonarC • ไอแลนด์ • เดฟแจม • อีพิก • Butterfly MC • RCA Records UK |
เว็บไซต์ | mariahcarey |
มารายห์ แครี (อังกฤษ: Mariah Carey; เกิด 27 มีนาคม ค.ศ. 1969) เป็นนักร้องชาวอเมริกา นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์เพลง และนักแสดง เธอมีผลงานเปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ. 1990 ภายใต้การชักนำของผู้บริหารค่ายเพลงโคลัมเบียเรเคิดส์ ทอมมี มอตโตลา และได้กลายเป็นศิลปินคนแรกที่มี 5 ซิงเกิลแรกติดชาร์ตอันดับ 1 บนบิลบอร์ดฮอต 100 หลังจากนั้นเธอได้แต่งงานกับมอตโตลาในปี ค.ศ. 1993 มีผลงานเพลงฮิตมากมายและยังทำให้เธอเป็นศิลปินที่มียอดขายสูงสุดของค่ายโคลัมเบีย และจากข้อมูลของนิตยสารบิลบอร์ด เธอเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จที่สุดในคริสต์ทศวรรษ 1990 และยังถูกยกย่องให้เป็นตัวแทนศิลปินแห่งยุค 90 ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดจากทางบิลบอร์ด ในสหรัฐอเมริกา[1] ตัวอย่างรางวัลที่ถูกยกย่อง •Billboard Artist of the decade •Billboard Icon award •Billboard song of the decade(2) •Billboard Chart Achievement Award •Grammy global impact award •Songwriters Hall of Fame •World Music Award for Best-Selling Pop Female Artist of the Millennium •World music Award for Pop Icon Award
หลังจากที่เธอเลิกรากับมอตโตลาในปี ค.ศ. 1997 แครีได้เริ่มทำเพลงฮิปฮอปในผลงานอัลบั้มของเธอ ที่ในเบื้องต้นแล้วประสบความสำเร็จดี แต่ความนิยมของเธอก็ลดลงหลังจากเธอออกจากโคลัมเบียในปี ค.ศ. 2001 เธอเซ็นสัญญากับเวอร์จินเรเคิดส์แต่ล้มเหลวจากค่ายเพลงที่ซื้อสัญญาคืนในปีถัดมาหลังจากที่เธอสติแตกต่อสาธารณชน เช่นเดียวกับเสียงตอบรับด้านลบจากภาพยนตร์ Glitter และผลงานอัลบั้มประกอบภาพยนตร์ ต่อมาในปี ค.ศ. 2002 แครีย์เซ็นสัญญากับค่ายไอแลนด์เรเคิดส์ และหลังจากไม่ค่อยที่จะประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เธอก็กลับมาขึ้นอันดับต้น ๆ ของเพลงป็อปในปี 2005[2][3]
แครีย์มียอดขายอัลบั้ม ซิงเกิลและวิดีโอมากกว่า 260 ล้านชุด ทั่วโลก[4][5][6] เธอยังมีชื่อว่าเป็นศิลปินป็อปหญิงที่มียอดขายมากที่สุดในสหัสวรรษจากงานเวิลด์มิวสิกอวอร์ดส 2002[7] และจากข้อมูลของสมาคมผู้ประกอบกิจการเพลงของสหรัฐอเมริกา เธอเป็นศิลปินหญิงที่มียอดขายมากที่สุดเป็นอันดับ 2 และเป็นอันดับ 17 ของศิลปินทั้งหมดด้วยยอดขายอัลบั้มมากกว่า 72 ล้านชุด เฉพาะในสหรัฐอเมริกา[8] เธอยังติดอันดับศิลปินที่มียอดขายมากที่สุดในยุคการสำรวจยอดขายโดยนีลสันซาวด์สแกนของสหรัฐอเมริกา (เป็นที่ 2 ของศิลปินทั้งหมด)[9] เธอยังเป็นศิลปินเดี่ยวที่มีซิงเกิลอันดับ 1 มากที่สุดในสหรัฐอเมริกา (19 ซิงเกิล เป็นที่สองรองจากวงเดอะบีตเทิลส์)[10] นอกจากนั้นเธอยังได้รับรางวัลแกรมมี่ 6 ครั้ง และเธอยังเป็นที่รู้จักในความสามารถการร้องเพลงที่มีช่วงกว้าง ทรงพลัง การร้องเทคนิคที่เรียกว่า "เมลิสม่า" และการใช้ whistle register โดยมีสื่ออ้างว่าเธอสามารถทำเสียงได้ตั้งแต่ F#2–Bb7 ในการแสดงสดและ Eb2–G#7 ในสตูดิโอ [11]
ประวัติ
[แก้]ชีวิตในวัยเด็กและครอบครัว ปี 1969 ถึง 1990
[แก้]มารายห์ แครีย์ เกิดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1969 ที่ เมืองฮันติงตัน รัฐนิวยอร์ก เป็นบุตรคนที่สามและคนสุดท้องของนักร้องโอเปราและนักฝึกสอนการขับร้องชาวไอริชอเมริกัน ชื่อ แพทรีเชีย ฮิกกี้ กับ วิศวกรอากาศยานชาวเวเนซูเอล่า-แอฟริกัน ชื่อ อัลเฟรด รอย แครีย์[12] แครีมีพี่สาวชื่อ แอลิสัน อายุมากกว่าเธอสิบปี และพี่ชายชื่อ มอร์แกน อายุมากกว่าเธอเก้าปี ชื่อของแครีย์นั้นไม่มีชื่อกลาง ส่วนชื่อ "มารายห์" มีที่มามาจากเพลง "(And They Call the Wind) Mariah" ในละครบรอดเวย์เรื่อง "Paint Your Wagon"[13]
จากการที่แครีย์มีผู้ปกครองมาจากชาติพันธุ์ที่ต่างกัน ครอบครัวของเธอจึงประสบกับปัญหาทางด้านการแบ่งแยกเชื้อชาติเสมอ ตั้งแต่การโดนดูถูก เมินเฉย หรือแม้กระทั่งถูกกระทำด้วยความรุนแรง เป็นผลให้ครอบครัวของแครีย์ต้องย้ายที่อยู่ไปรอบ ๆ นครนิวยอร์กบ่อย ๆ เพื่อหาที่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ดีกว่า ความตึงเครียดภายในครอบครัวได้ทำให้บิดามารดาของเธอหย่าร้างกันในที่สุด ซึ่งขณะนั้น แครีย์มีอายุได้สามขวบเท่านั้น[13] แครีย์และมอร์แกนอาศัยอยู่กับมารดาในขณะที่แอลิสันไปอาศัยอยู่กับผู้เป็นบิดา แครีย์ไม่ค่อยได้ติดต่อกับบิดาของเธอเท่าใดนักยกเว้นช่วงวันหยุด แต่ก็น้อยลงเมื่อเธอมีอายุมากขึ้น แพทริเชียเลี้ยงดูแครีย์ขณะที่เธอต้องทำงานสองถึงสามงานและก็ยังคงต้องย้ายที่อยู่อาศัยอยู่บ่อย ๆ ในเขตลองไอแลนด์[14]
มารายห์ แครีย์ เริ่มร้องเพลงเมื่ออายุได้สามขวบ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แม่ของเธอเชื่อว่าเธอมีพรสวรรค์ในด้านการร้องเพลง จริง ๆ แล้วแพทริเชียชอบพาแครีย์ไปดูการซ้อมโอเปราอยู่บ่อย ๆ แครีย์เริ่มแสดงต่อหน้าสาธารณชนครั้งแรกเมื่อเธออายุหกขวบและเริ่มประพันธ์เพลงครั้งแรกตอนกำลังศึกษาในชั้นประถม แครีย์เรียนจบจากโรงเรียนประถมโอลด์ฟิลด์และโรงเรียนมัธยมฮาร์เบอร์ฟิลด์สใน กรีนลอว์น นิวยอร์ก แต่มักจะขาดเรียนอยู่บ่อย ๆ เนื่องจากเธอพยายามจะเข้าสู่วงการบันเทิง ทำให้เธอได้ฉายาว่า "มิราจ" (ภาพลวงตา) จากเพื่อน ๆ และเป็นเรื่องแปลกที่แครีย์ไม่เคยเข้าร่วมวงร้องเพลงประสานเสียงของโรงเรียนเลย[15]
ต่อมา เธอได้รับงานเป็นนักร้องเสียงประสานให้แก่ เบรนด้า เค. สตารร์ และในปี ค.ศ. 1988 ในช่วงนั้น แครีย์ได้พบกับผู้บริหารระดับสูงจากค่ายเพลง "โคลัมเบีย" ชื่อ ทอมมี่ มอตโตล่า ในงานเลี้ยงแห่งหนึ่งซึ่งเพื่อนของเธอได้นำม้วนเทปตัวอย่างที่อัดเสียงของแครีย์ตอนร้องเพลงเอาไว้ให้แก่เขา เทปม้วนนั้นเปิดในงานเลี้ยงและทอมมี่ก็ประทับใจกับสิ่งที่ได้ฟังเป็นอย่างมาก เขาจึงกลับไปที่งานเลี้ยงเพื่อตามหาแครีย์ แต่เธอก็กลับไปแล้ว แต่ในที่สุดเขาก็สามารถตามหาแครีย์จนพบและเซ็นสัญญาให้เข้ามาอยู่ในสังกัด[16] เหตุการณ์ที่เหมือนกับเทพนิยายเรื่องซินเดอเรลล่าเรื่องนี้ได้กลายเป็นเรื่องเล่าในวงการบันเทิงเกี่ยวกับการปรากฏตัวของแครีย์สู่สายตาของสาธารณชน[17]
การประสบความสำเร็จในช่วงแรก ปี 1990 ถึง 1992
[แก้]แครีย์เริ่มอาชีพนักร้องเมื่อปี ค.ศ. 1990 ด้วยผลงานอัลบั้มชุดแรกที่มีชื่อชุดตรงกับชื่อของเธอเอง อัลบั้มนี้มีเพลงที่ติดอันดับ 1 ของตารางจัดอันดับเพลงในสหรัฐอเมริกาถึง 4 เพลง ได้แก่ เพลง "Vision Of Love", "Love Takes Time", "Someday" และ "I Don't Wanna Cry"[18] แต่อัลบั้มนี้ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จในระดับสากลเท่าที่ควร อย่างไรก็ดี อัลบั้มของเธอก็ขึ้นอันดับ 1 ของบิลบอร์ดฮอต 200 โดนยื้อไว้ได้ถึง 11 สัปดาห์ โดยทำยอดขายในปัจจุบันถึง 20 ล้านแผ่น ในปี ค.ศ. 1991 แครีย์ก็ได้รับรางวัลแกรมมีเป็นครั้งแรก กับรางวัลศิลปินป็อปฝ่ายหญิงยอดเยี่ยมและศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม และเธอก็ได้แสดงสดด้วยเพลง vision of love ด้วย[19]
อัลบั้มชุดที่ 2 ที่ชื่อ Emotions ออกวางจำหน่ายในช่วงเดือนกันยายน ค.ศ. 1991 ในอัลบั้มชุดนี้มีซิงเกิลเพลง "Emotions" ติดอันดับ 1 ในสหรัฐอเมริกาเป็นเวลานาน 3 สัปดาห์[20] จากความสำเร็จดังกล่าวนี้ ได้ทำให้เธอเป็นศิลปินคนแรกที่เปิดตัวด้วยผลงานซิงเกิลติดอันดับ 1 ในบิลบอร์ดถึง 5 เพลงติดต่อกัน โดยเพลงนี้ ทำให้เธอได้รับการบันทึกลงในกินเนสเวิลด์เรกคอร์ด โดยเป็นนักร้องที่สามารถทำเสียงได้สูงที่สุด โดยทำได้ถึง G#7 ที่งาน AMA 1991 (บางทีก็บอกว่ามี Bb7)[21] นอกจากนั้น ในอัลบั้มนี้ยังมีเพลง "Can't Let Go" ที่หยุดอยู่ที่อันดับ 2[18] และเพลง "Make It Happen" ก็สูงสุดอันดับ 5[18] อีกด้วย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จที่ดีนักทั้งเสียงวิจารณ์และยอดขาย นิตยสารโรลลิงสโตนอธิบายไว้ว่า "เหมือนเดิม ด้วยวัตถุดิบที่น่าสนใจน้อย เพลงรักสไตล์ป็อปที่เหมือนขาดไม่ได้" และอัลบั้มนี้มียอดขายถึง 13 ล้านแผ่นในปัจจุบัน[22]
อัลบั้มชุดนี้ แครีย์ได้ร่วมงานกับ โรเบิร์ต คลิวิลส์ กับ เดวิด โคลส์ จากวงซีแอนด์ซี มิวสิก แฟกทอรี และร่วมงานกับ คาโรล์ คิง นักร้อง นักประพันธ์เพลงหญิงชื่อดังในช่วงทศวรรษ 1970 ในเพลง "If It's Over" ด้วย[23] เธอร่วมทำงานในทุกเพลงของอัลบั้มนี้ เธอกล่าวว่า "ฉันไม่ต้องการให้ Emotions เป็นใครคนอื่นในรูปลักษณ์ของฉัน" และเสริมว่า "มันมีอะไรมากกว่าตัวฉัน ในอัลบั้มนี้"[24] และเธอก็ได้แสดงสดเพลง If It's Over ที่งาน Grammy Award ในปี 1992 ด้วย
ในปี ค.ศ. 1992 แครีย์ได้แสดงคอนเสิร์ตจริงครั้งแรกกับเอ็มทีวี ในรายการ “MTV Unplugged” โดยเธอได้นำเพลงจากอัลบั้มสองชุดแรกมาเรียบเรียงใหม่ในรูปแบบที่ไม่ใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้า และได้ร้องเพลง "I'll be there" เพลงเก่าของวงเดอะแจ็กสันไฟฟ์ ร่วมกับเทรย์ โลเรนซ์ (เพลงนี้ได้เป็นเพลงซิงเกิลในภายหลัง และประสบความสำเร็จจนติดอันดับ 1 ในสหรัฐอเมริกา[18]) เพลงที่ร้องในการแสดงสดครั้งนี้ ได้รับการบันทึกลงในอัลบั้มอีพีของเธอที่ชื่อ MTV Unplugged โดยมีเพลงทั้งหมด 7 เพลงด้วยกัน ซึ่งนิตยสารเอนเตอร์เทนเมนวีกลี ให้ความเห็นว่า "แข็งแกร่งที่สุด เป็นการบันทึกเสียงที่แท้จริงที่เธอเคยทำมา หรือการแสดงสดครั้งนี้จะช่วยให้เธอก้าวสู่การเติบโตครั้งแรก"[25] โดยอัฃบั้มนี้ ก็มียอดขายสูงถึง 7 ล้านแผ่น นับเป็นการบันทึกเสียงที่มียอดขายสูงมาก
ความสำเร็จไปทั่วโลก ปี 1993 ถึง 1996
[แก้]มารายห์ แครีย์แต่งงานกับ ทอมมี่ มอตโตล่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทโซนี่ในขณะนั้น ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1993 ที่แมนฮัตตัน สหรัฐอเมริกา[15] ต่อมาแครีย์ออกผลงานสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 3 ที่ชื่อว่า Music Box อัลบั้มชุดนี้มียอดขายรวมมากกว่า 10 ล้านชุดเฉพาะในสหรัฐอเมริกา โดยที่เปิดตัวด้วยซิงเกิล "Dreamlover" ที่ติดอันดับ 1 ในสหรัฐอเมริกานาน 8 สัปดาห์[20] และซิงเกิลถัดมา เป็นเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการให้กำลังใจที่ชื่อ "Hero" ก็ติดอันดับ 1 ในสหรัฐอเมริกา นาน 4 สัปดาห์[20] นิตยสารบิลบอร์ดกล่าวไว้ว่า "ช่างปวดใจเหลือเกิน ...เป็นการใช้สิ่งพื้นฐาน ง่าย ๆ ของแครีย์ เสียงของเธอช่างเป็นธรรมชาติกับเพลง"[26] แต่ทาง นิตยสารไทม์ กล่าวทำนองว่า "อัลบั้ม Music Box นี้ ดูทำเป็นพอพิธี และขาดความน่าหลงใหล ...แครีย์สามารถเป็นนักร้องเพลงป็อป-โซล ที่ดีได้ แทนการพยายามทำให้เหมือนความสามัญอย่างซาลิเอรี"[27] แครีย์ได้ออกมาให้ความเห็นว่า "ทันทีที่คุณประสบความสำเร็จ ก็จะมีหลาย ๆ คนไม่ชอบอย่างนั้น ฉันทำอะไรไม่ได้จริง ๆ สิ่งที่ฉันพอทำได้คือทำดนตรีในสิ่งที่ฉันเชื่อมั่น"[28] คำวิจารณ์ส่วนใหญ่จะเกิดก่อนการทัวร์ Music Box Tour ในอเมริกาเล็กน้อย[29] ส่วนซิงเกิลที่ 3 เพลง "Without You" ซึ่งเป็นเพลงดังของแฮรี นิลล์สัน ที่เธอนำมาขับร้องใหม่ ก็เป็นเพลงแรกที่ไปติดอันดับ 1 ในสหราชอาณาจักรได้เป็นเพลงแรกและกลายเป็นเพลงท่มียอดขายสูงที่สุดของเธอด้วย และปัจจุบัน อัลบั้มนี้ก็มียอดขายถึง 32 ล้านแผ่น นับเป็น 1 ใน 30 อัลบั้มที่มียอดขายมากที่สุดตลอดการของโลก และเป็นอัลบั้มแรก ที่ได้ Diamond Album[20]
ช่วงปี ค.ศ. 1994 แครีย์ได้ร่วมงานกับ ลูเธอร์ แวนดรอส ในอัลบั้ม Songs โดยได้นำเพลง "Endless Love" เพลงเก่าของไลโอเนล ริชชี และ ไดอาน่า รอสส์ กลับมาร้องใหม่[30] ปลายปีเดียวกันนั้น แครีย์ยังได้ออกอัลบั้มคริสต์มาสอีก 1 ชุด โดยที่เธอได้มีส่วนร่วมในการประพันธ์เพลง "All I Want For Christmas Is You" ที่อยู่ในอัลบั้มชุดนี้ด้วย ซิงเกิลนี้มียอดขายเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นถึง 1.1 ล้านชุดด้วยกัน[31] และยังคงเป็นซิงเกิลที่ขายดีที่สุดของเธอในญี่ปุ่นอีกด้วย เว็บไซต์ All Music Guide วิจารณ์ไว้ว่า "ทำให้ดูเหมือนอุปรากรชั้นสูงในเพลง 'O Holy Night' และทำเพลงแด๊นซ์คลับที่ดูน่ากลัวในเพลง 'Joy to the World'"[32] อัลบั้มชุดนี้ก็ถือเป็นอัลบั้มเพลงคริสต์มาสที่ประสบความสำเร็จที่สุดตลอดกาลโดยมียอดขายสูงถึง 14 ล้านแผ่น[33]
ในปี ค.ศ. 1995 แครีย์ได้ออกผลงานอัลบั้ม Daydream ซึ่งอัลบั้มชุดนี้เธอผสมผสานดนตรีแนวอาร์แอนด์บี ฮิปฮอป และป็อปเข้าด้วยกัน โดยอัลบั้มนี้มีเพลง "Fantasy" เป็นซิงเกิลแรก ทำงานร่วมกับ โอล' เดอร์ตี บาสตาร์ด ศิลปินฮิปฮอป แครีย์พูดว่าทางค่ายโคลัมเบีย ต้นสังกัด ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงในชุดนี้ "ทุก ๆ คนพูดเหมือนว่า 'คุณบ้าไปแล้วเหรอ' พวกเขารู้สึกกังวลมากในการเปลี่ยนแปลงสูตรเก่า ๆ "[34] เพลงนี้ก็สามารถขึ้นอันดับ 1 ในสหรัฐอเมริกาทันทีในสัปดาห์แรกที่เข้าตารางอันดับเพลง[20] ซึ่งนับเป็นศิลปินหญิงคนแรกที่ทำสถิติได้เช่นนี้ และเพลงนี้ยังเป็นเพลงที่ขึ้นอันดับ 1 ในสัปดาห์แรก โดยได้อันดับ 1 นานถึง 8 สัปดาห์[35] เป็นเพลงที่ 2 ถัดจากเพลง "You Are Not Alone" ของ ไมเคิล แจ็กสัน อีกด้วย[36] ส่วนซิงเกิลที่ 2 เพลง "One Sweet Day" ที่ร่วมร้องกับวงแนวดนตรีอาร์แอนด์บีที่ชื่อ บอยซ์ ทู เม็น ก็ขึ้นอันดับ 1 นานที่สุดในประวัติศาสตร์บนตารางอันดับเพลงซิงเกิลในสหรัฐอเมริกา นานถึง 16 สัปดาห์[37] และซิงเกิลที่ 3 "Always Be My Baby" ที่ร่วมงานกับเจอร์เมน ดูปริ สามารถขึ้นอันดับ 1[18] เช่นกัน รวมถึง มียอดการเปิดออกอากาศมากที่สุดประจำปี ค.ศ. 1996 ด้วย[38]
นิตยสารบิลบอร์ด พูดว่า อัลบั้ม Daydream ได้สร้างเสียงตอบรับที่ดีที่สุดแล้ว สำหรับอาชีพนักร้อง[39] และนิวยอร์กไทม์ยังให้เป็นอัลบั้มที่ดีที่สุดในปี 1995 และยังเขียนไว้ว่า " การตัดความเป็นป็อปลูกกวาดออกสู่ ความละเอียดปราณีต ... การเขียนเพลงของเธอได้ก้าวกระโดด ผลคือดูสบายขึ้น เซ็กซี่ขึ้น และดูลดความน่าเบื่อคุ้นหูออก[40]
นอกจากผลงานของเธอแล้ว ในช่วงปีนี้ แครีย์ยังได้ไปร่วมประสานเสียงให้แก่เพลง "Everytime I close My Eyes" ของเบบี้เฟส อีกด้วย โดยอัลบั้ม Daydream มียอดขายสูงถึง 25 ล้านแผ่น โดยเป็น Diamond Album ชุดที่ 2 ของเธอด้วย
ความเป็นอิสระและภาพลักษณ์ใหม่ ปี 1997 ถึง 2000
[แก้]ในปี ค.ศ. 1997 มารายห์ แครีย์ และทอมมี่ มอตโตล่า ก็ต้องแยกทางกัน หลังจากที่เธอต้องสร้างภาพสู่สาธารณชนว่าเธอมีความสุขในชีวิตคู่ ซึ่งแท้จริงแล้วแครีย์ไม่มีความสุขเลย เธอถูกปฏิบัติเหมือนนกในกรงทอง เธอถูกเฝ้าดูทุกฝีก้าว ไม่มีความเป็นอิสระ จนสุดท้ายการหย่าร้างก็เกิดขึ้นในปีถัดมา[41]
ในปีเดียวกันนี้ อัลบั้ม Butterfly ของเธอก็ออกวางจำหน่าย และขึ้นอันดับ 1[42] ในสัปดาห์แรกเป็นครั้งที่ 2 ภาพลักษณ์ของเธอในอัลบั้มชุดนี้เน้นไปที่ความเซ็กซี่เป็นหลัก ส่วนเพลงที่อยู่ในอัลบั้มชุด นี้แครีย์ได้สร้างออกมาในดนตรีแนวอาร์แอนด์บีและฮิปฮอปอย่างจริงจัง อัลบั้มนี้เธออธิบายไว้ว่า ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของเธออย่างเต็มที่ ในผลงานเพลงชิ้นนี้[43] อย่างไรก็ตามเธอก็เสริมต่อว่า "ฉันไม่คิดว่า มันจะเป็นอะไรที่หลุดจากความเป็นตัวฉัน ที่เคยทำมาแต่ก่อน"[44] เว็บไซต์ LAUNCHcast วิจารณ์ไว้ว่า "นี่อาจพิสูจน์ได้ว่าแฟนเก่าแก่ อาจกระอักกระอ่วนได้" แต่ก็ชมว่า "เป็นการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นที่น่าชื่นชมยินดี"[45] โดยในซิงเกิลเพลงแรกที่ชื่อ "Honey" เธอก็ได้ร่วมกันสร้างกับศิลปินแร็ปที่ชื่อ พัฟฟ์ แดดดี้ (ในขณะนั้น) ส่วนเพลง "My All" นั้น ก็ขึ้นสู่อันดับ 1 บนตารางอันดับเพลงซิงเกิลเป็นเพลงที่ 13[18] ส่วนเพลง "Butterfly" ที่มีเนื้อหากล่าวถึงชีวิตคู่ของเธอ กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร อัลบั้ม Butterfly ทำยอดขายรวม 18 ล้านแผ่น
ต่อมา แครีย์ได้เปิดสังกัดเพลงเล็ก ๆ ชื่อเครฟ เรคคอร์ดส โดยมีศิลปินอย่าง อัลลัวร์ หรือเซเว่น ไมล์ ที่เข้ามาสังกัดกับค่ายนี้ เป็นต้น แต่สุดท้ายก็ได้ยุติกิจการไปในที่สุด ส่วนของงานเบื้องหลังนั้น ในช่วงปีนี้ เธอได้ทำหน้าที่เป็นนักประพันธ์เพลงและควบคุมการบันทึกเพลง ให้แก่ศิลปินคนอื่น ๆ โดยตัวอย่างงานประพันธ์เพลงของเธอนั้นได้แก่ เพลง "Head Over Heels" และ "Last Chance" ของอัลลัวร์ เพลง "Make You Happy" ของเทรย์ โลเรนซ์ (เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง หน่วยจารชนพิทักษ์จักรวาล (Men in Black)) และเพลง "Where Are You Christmas" ของเฟธ ฮิลล์ (เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง เดอะกริ๊นช์ ตัวเขียวป่วนเมือง) เป็นต้น ส่วนงานทางด้านการควบคุมการบันทึกเพลงให้ศิลปินอื่น ก็ได้แก่ เพลง "All Cried Out" ของอัลลัวร์ เพลง "After" ของวงเซเว่น ไมล์ และเพลง "Don't Go Looking For Love" ของวงบลาค เป็นต้น[46]
ในปี ค.ศ. 1998 แครีย์ก็ได้ออกอัลบั้มรวมเพลงที่ติดอันดับ 1 บนตารางอันดับเพลง โดยใช้ชื่อว่า #1s โดยมีเพลงดังอย่าง "I Still Believe" ซึ่งเป็นเพลงเก่าของเบรนด้า เค. สตารร์ ที่ได้รับความนิยมในปี ค.ศ. 1988 รวมอยู่ในนั้นด้วย (ในเวอร์ชันปี 1988 ของเพลงนี้ แครีย์ได้มีส่วนร่วมในการร้องประสานเสียงด้วย) ยอดขายอัลบั้มนี้ รวม 20 ล้านแผ่น[47]
และที่สร้างความประหลาดใจคือ เธอยังได้ร่วมร้องเพลงคู่กับวิทนีย์ ฮูสตัน ในเพลง "When You Believe" ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง เดอะ พริ้นซ์ ออฟ อียิปต์ (The Prince Of Egypt) โดยเพลงนี้ได้รางวัลจากการประกวดออสการ์อีกด้วย[48] นิตยสารเอ็นเอ็มอีวิจารณ์ไว้ว่า "เพลงนี้มีความ หวานอย่างไร้สาระ เหมือนเพลง 'Hero'"[49] แครีย์ยังได้มีส่วนร่วมกับงานวีเอชวัน ดีวาส์ ทางช่องวีเอชวัน โดยเป็นคอนเสิร์ตที่รวมศิลปินหญิงชื่อดังอย่าง อารีธา แฟรงคลิน, เซลิน ดิออน, กลอเรีย เอสเตฟาน, คาโรล์ คิง และชาเนีย ทเวน มาแสดงร่วมกันโดยเธอได้แสดงเพลง My all,Chains of Fool,Make it Happen นอกจากนั้น ในปีนี้ แครีย์ยังเป็นข่าวกับนักกีฬาเบสบอลทีมนิวยอร์กแยงกี้ส์ที่ชื่อ เดเรค เจเตอร์ อีกด้วย
ในปี ค.ศ. 1999 แครีย์ได้ออกอัลบั้มมาอีก 1 ชุด โดยใช้ชื่อว่า Rainbow ที่เธอทำเพลงแนวฮิปฮอปและอาร์แอนด์บี อย่างอัลบั้ม Butterfly โดยซิงเกิลแรกที่ชื่อ "Hearbreaker" ได้เจย์-ซี มาร่วมร้อง ส่วนมิวสิกวิดีโอเพลงนี้มีค่าใช้จ่ายในการทำมิวสิกวิดีโอมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ด้วยเงินลงทุน 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[50] ซิงเกิลที่ 2 "Thank God I Found You" ได้ร่วมงานกับโจ และวงไนน์ตี้เอท ดีกรีส์ เพลงนี้เป็นเพลงอันดับ 1[18] เพลงที่ 15 ในสหรัฐอเมริกาของเธอ ทางฝั่งสหราชอาณาจักร แครีย์ได้ออกวางขายซิงเกิล "Against All Odds (Take A Look At Me Now)" เพลงเก่าของฟิล คอลลินส์ ในปี ค.ศ. 1984 โดยได้ร่วมร้องกับวงบอยแบนด์ เวสท์ไลฟ์ ขึ้นอันดับ 1 ในสหราชอาณาจักร ถือเป็นเพลงอันดับ 1 ในอังกฤษเป็นเพลงที่ 2 ของเธอ ตัวอัลบั้มในสหรัฐอเมริกาไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับอัลบั้มชุดก่อน ๆ โดยขึ้นอันดับ 2 ในสหรัฐอเมริกา[42] สำหรับเสียงวิจารณ์ของอัลบั้ม Rainbow ซันเดย์เฮอรัลด์ พูดไว้ว่า "ก้าวเดินที่ไม่มั่นคงแต่น่าประทับใจ ระหว่างเพลงโซลบัลลาดกับการ่วมงานกับศิลปินอาร์แอนด์บีที่มีชื่อเสียง อย่างสนูป ด็อกกี้ ด็อก ,อัชเชอร์ ... เป็นอัลบั้มป็อป-โซล ที่สละสลวย"[51] นิตยสารไวบ์พูดคล้าย ๆ กันว่า "Rainbow จะเป็นอัลบั้มที่คงไปด้วยความเลื่อมใส ถึงแม้ว่าจะกลายเป็นอัลบั้มที่ทำยอดขายที่ต่ำที่สุดของแครีย์" ยอดขายรวม 10 ล้านแผ่น[52]
ท้ายปี นิตยสารบิลบอร์ด ได้แจกรางวัลให้แก่เธอ รางวัลศิลปินแห่งทศวรรษ และแครีย์ยังได้รางวัลจากเวิลด์ มิวสิก อวอร์ดส รางวัลศิลปินหญิงที่มียอดขายมากที่สุดในสหัสวรรษ นอกจากนี้เธอยังทำสถิติเป็นศิลปินคนเดียวในประวัติศาสตร์ อันดับเพลงในนิตยสารบิลบอร์ดที่มีเพลงอันดับ 1 ทุก ๆ ปีในทศวรรษ 1990 (ปี ค.ศ. 1990-1999)[53] นอกจากนี้แครีย์ยังได้ก้าวสู่ฐานะศิลปินแนวอาร์แอนด์บี โดยได้ทำงานกับเจย์-ซี เพลง "Things That U Do" และ "Got A Thing For You" ของดา แบรท
อุปสรรคในเรื่องส่วนตัวและอาชีพ ปี 2001 ถึง 2003
[แก้]หลังจากที่เธอได้รับรางวัลเวิลด์ มิวสิก อวอร์ดส แครีย์ได้สิ้นสุดสัญญากับโซนี่และได้เซ็นสัญญากับอีเอ็มไอด้วยเงิน 80 ล้านปอนด์ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2001[54] ในช่วงนั้นร่างกายและจิตใจเธอทรุดโทรมลงมาก แครีย์ได้ทิ้งข้อความเสียงลงเว็บไซต์ของเธอ[55] ถึงเรื่องการทำงานหนักมากของเธอในรอบหลายปี นอกจากนั้นความสัมพันธ์กับนักร้องละติน ลุยส์ มิเกลก็จบลง เธอให้สัมภาษณ์หลังจากนั้นว่า "ฉันอยู่กับคนที่ไม่รู้จักฉันจริง ๆ และฉันก็ไม่สามารถจัดการเรื่องส่วนตัวได้ ทั้งให้สัมภาษณ์ทั้งวัน มีเวลานอนแค่ราว 2 ชั่วโมงเท่านั้น "[56] แครีย์ยังได้แสดงกิริยาหลุดโลกในรายการของเอ็มทีวี รายการ TRL (Total Request Live) โดยถอดเสื้อผ้าออกกลางรายการ[57]
แครีย์ได้แสดงภาพยนตร์เรื่องแรกเป็นตัวเอกในเรื่องกึ่งอัตชีวประวัติของเธอ Glitter ภาพยนตร์ออกฉายในวันที่ 21 กันยายน หนังเรื่องนี้ถูกวิจารณ์อย่างมากและล้มเหลวในตารางอันดับภาพยนตร์ทำเงินบ็อกซ์ออฟฟิส[58] เมื่อเวอร์จิ้น เรคคอร์ดส ออกขายอัลบั้มที่ 10 ของเธอ "Glitter" แครีย์ก็ไม่สามารถที่จะประชาสัมพันธ์อัลบั้มชุดนี้ได้เท่าที่ควรเนื่องจากเธอประสบปัญหาเรื่องสุขภาพ และการวางขายอัลบั้มในวันที่แย่ที่สุดคือ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 (วันเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน) อัลบั้มเข้าตารางอันดับที่อันดับ 7[42] ซึ่งแย่ที่สุดที่เคยทำได้ หนังสือพิมพ์เซนต์หลุยส์โพสต์-ดิสแพตช์ เขียนไว้ว่า "นี่เป็นช่วงตกต่ำที่สุดของอาชีพเธอ"[59] และนิตยสารเบล็นเดอร์เขียนไว้ว่า "หลังจากที่เธอรุ่งเรืองในอาชีพของเธอ ไม่ว่าจะเป็นยอดการเปิดทางวิทยุ แต่ตอนนี้แทบไม่เป็นเช่นนั้นเลย"[60] "Loverboy" ซิงเกิลแรกในอัลบั้มนี้ขึ้นสูงสุดอันดับ 2 เนื่องจากแผนการตลาดลดราคาเหลือ 99 เซ็นต์[61] แครีย์ได้ร้องเพลง "Hero" ในวันที่ 21 กันยายน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการหาเงินหลังเหตุการณ์วินาศกรรม 11 ก.ย.[15] และในเดือนธันวาคมเธอได้ร้องเพลงให้แก่กองทัพอเมริกันก่อนไปคอซอวอ หลังออกอัลบั้ม Glitter โซนี่ได้ออกอัลบั้ม Greatest Hits ก่อนช่วงคริสต์มาส อัลบั้มนี้ก็ไม่ประสบความสำเร็จในตารางอันดับเพลง (สูงสุดที่อันดับ 52[42])
เดือนมกราคม ค.ศ. 2002 อีเอ็มไอตัดสินใจยกเลิกสัญญากับเธอด้วยเงิน 20 ล้านปอนด์[54] เธอให้สัมภาษณ์ถึงช่วงเวลาที่อยู่กับต้นสังกัดเวอร์จิ้นว่า "เป็นสถานการณ์ที่ตึงเครียด การตัดสินใจเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์การเงิน แต่ฉันไม่ได้ตัดสินใจเพราะเกี่ยวกับเงินที่ได้ ฉันเรียนรู้บทเรียนครั้งใหญ่จากเหตุการณ์ครั้งนี้"[62] และหลังจากนั้นหนึ่งปีแครีย์ได้เซ็นสัญญาอีกครั้งกับ “Island Records” ด้วยสัญญา 20 ล้านเหรียญและเปิดค่ายใหม่ของเธอ MonarC[63] ต่อมากรกฎาคม ปี 2002 เป็นช่วงที่พ่อของเธออัลเฟรด รอย แครีย์เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง[64]
แครีย์ได้ร่วมแสดงเป็นตัวประกอบในภาพยนตร์เรื่องไวส์เกิร์ลส (WiseGirls) แครีย์ ได้ออกอัลบั้ม Charmbracelet กับสังกัดใหม่ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2002 ติดบนตารางอันดับอัลบั้มสูงสุดอันดับ 3[42] ในอัลบั้มนี้แครีย์ได้ถ่ายทอดเพลงผ่านบทเพลงซึ่งมีความหมายกับเธอและแฟนเพลง อย่างเพลง "Through The Rain" นอกจากนั้นในอัลบั้มนี้ยังมีเพลง "Boy (I Need You)" ได้ร่วมงานกับศิลปินแนวแร็ปอย่างแคม'รอน รวมถึงได้นำเพลงเก่าของเดฟ เล็พพาร์ด ในปี 1993 นำมาทำใหม่ในเพลง "Bringin' On The Heartbreak" สำหรับเสียงวิจารณ์ในอัลบั้มชุดนี้ เดอะบอสตันโกลบ วิจารณ์ไว้ว่า "แย่ที่สุดของเธอ เผยเสียงร้องที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเสียงขึ้นลงที่เข้มแข็งหรือเสียงกระซิบที่อ่อนนุ่ม"[65] นิตยสารโรลลิงสโตน วิจารณ์ว่า "แครีย์ต้องเน้นเพลงให้เธอให้ดูมีพละกำลังขึ้นและความกว้างของเสียงที่เธอเคยโด่งดังมาก่อน Charmbracelet เหมือนสีน้ำที่ไหลซึมออกมาจากบ่อ"[66]
ในปี 2003 แครีย์ได้ร่วมงานกับบัสตา ไรมส์ ในเพลง "I Know What You Want" เพลงนี้ขึ้นสูงสุดอันดับ 3[18] ในสหรัฐอเมริกาและบรรจุอยู่ในอัลบั้มรีมิกซ์ The Remixes ของเธอด้วย
การกลับมาของเธอ ปี 2004 ถึง 2007
[แก้]ในปี 2004 แครีย์ใช้เวลาส่วนใหญ่กับการทำอัลบั้ม The Emancipation of Mimi โดยปลายปี 2004 เธอได้ร่วมงานกับจาดาคิส ในเพลง "U Make Me Wanna" ซึ่งสามารถเข้าถึง 10[18] อันดับแรกบนตารางอันดับเพลงบิลบอร์ด อาร์แอนด์บี/ฮิปฮอป ซิงเกิลส์ ชาร์ท
แครีย์ได้ปฐมทัศน์เพลง "It's Like That" ที่เพียวคลับในลาสเวกัส[67] ได้รับเสียงตอบรับในทางที่ดีและเพลงนี้ก็ขึ้นสูงสุดอันดับ 16 ในตารางอันดับเพลงนิตยสารบิลบอร์ด สื่อต่าง ๆ ให้ความเห็นว่านี่คือการกลับมาของแครีย์ในคำประกาศโดยใช้คำว่า "การกลับมาของเสียงร้อง" (The Return Of The Voice)[68] อัลบั้ม The Emancipation of Mimi เธอได้ร่วมงานกับเดอะเนปจูนส์ , คานยี เวสต์ รวมไปถึงเจอร์เมน ดูปริ อัลบั้มนี้ได้ขึ้นอันดับ 1 ในตารางอันดับอัลบั้มบิลบอร์ดตั้งแต่สัปดาห์แรกที่วางขาย ซิงเกิลที่ 2 "วีบีลองทูเกเตอร์" ได้รับการโหมเปิดทางวิทยุจนขึ้นอันดับ 1[18] ในตารางอันดับเพลงเป็นเวลานานถึง 14 สัปดาห์ ถือเป็นเพลงอันดับ 1 ของแครีย์เพลงแรกในรอบ 5 ปี และเป็นหนึ่งในซิงเกิลที่ประสบความสำเร็จที่สุดของเธอ ซิงเกิลที่ 3 "Shake It Off" ก็ยังได้รับการเปิดทางสถานีวิทยุอย่างมากจนทำให้ขึ้นสูงสุดอันดับ 2[18] ในตารางอันดับเพลงนิตยสารบิลบอร์ด อีกทั้งซิงเกิลที่ 4 "Don't Forget About Us" ขึ้นอันดับ 1[18] บนตารางอันดับเพลงนิตยสารบิลบอร์ดเป็นเพลงที่ 17
อัลบั้ม The Emancipation of Mimi ชุดนี้ก็เป็นอัลบั้มที่ขายดีที่สุดประจำปีและได้รับ 3 รางวัลแกรมมี่ (อัลบั้มเพลงอาร์แอนด์บีร่วมสมัยยอดเยี่ยม, เพลงอาร์แอนด์บียอดเยี่ยม จากเพลง "We Belong Together", ศิลปินอาร์แอนด์บีหญิงยอดเยี่ยม)[69] และในปี 2007 แครีย์ยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล "ศิลปินอาร์แอนด์บีหญิงยอดเยี่ยม" และ "เพลงอาร์แอนด์บียอดเยี่ยม" อีกครั้งกับเพลง "Don't Forget About Us"[70] เดอะการ์เดียน วิจารณ์อัลบั้มชุดนี้ไว้ว่า "เยี่ยม.. ชุดนี้เน้นไปที่เพลงเมืองคนเมือง มารายห์ได้ปรับตัวได้ในรอบหลายปี"[71] ต่อมาวันที่ 2 กรกฎาคม 2005 แครีย์ได้ร่วมแสดงในงานคอนเสิร์ตไลฟ์เอทที่เวทีลอนดอน โดยร้องเพลง "Make It Happen" และ "Hero" ซึ่งร้องกับคณะประสานเสียงแอฟริกัน ชิลเดรน'ส ไควร์ และจบด้วยเพลง "We Belong Together" โดยมีเพื่อนเก่าอย่างแรนดี้ แจ็คสัน คณะกรรมการอเมริกันไอดอลมาร่วมแสดง[72]
แครีย์ได้ทัวร์คอนเสิร์ตตามเมืองต่าง ๆ ในชื่อทัวร์ว่า “The Adventures of Mimi” ช่วงซัมเมอร์ ปี 2006[73]
ปี 2007 ถึง 2010
[แก้]ช่วงกลางปี 2006 หลังจากที่ได้เริ่มทำงานสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 11[74] E=MC² ผลงานอัลบั้มชุดที่ 11 ที่ได้ร่วมงานกับโปรดิวเซอร์อย่าง ซี. “ทริกกี้” สจ๊วต กับ เดอะ-ดรีม ก็ยังมีบรรดาโปรดิวเซอร์รับเชิญไม่ว่าจะเป็น เจอร์เมน ดูปริ ,ดีเจ ทูมป์ หรือแม้กระทั่ง วิลล์ ไอ แอม เป็นต้น กับซิงเกิลแรก "ทัชมายบอดี"[75] ที่สามารถขึ้นอันดับ 1 บนชาร์ทซิงเกิล 100 อันดับ ทำให้เธอมีเพลงอันดับ 1 ถึง 18 ซิงเกิล แซงหน้า เอลวิส เพรสลีย์ที่มีซิงเกิลอันดับ 1 อยู่ 17 ซิงเกิล[76] และจำนวนสัปดาห์ของซิงเกิลอันดับ 1 รวมกันได้ 79 สัปดาห์ ซึ่งมีสถิติตามหลังเพียงเอลวิส เพรสลีย์ที่มีผลรวมที่ 80 สัปดาห์[77]
เมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 2008 แครีย์แต่งงานกับนิก แคนนอน นักแสดง เธอแต่งที่เกาะวินเดอร์แมร์ในบาฮามาส[78][79][80] แครีย์บอกว่าเธอรู้สึกว่า ทั้งคู่เป็นโซลเมตกัน[81] แครีย์แสดงเพลง "Hero" ในงานสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของประธานาธิบดีชาวแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกในประวัติศาสตร์ บารัก โอบามา เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2009 ต่อมาแครีย์ได้ร่วมงานกับซิงเกิลที่ 2 ในอัลบั้ม Love vs. Money ของเดอะดรีม ชื่อเพลง "My Love"[82]
แครีย์ออกผลงานอัลบั้มชุดที่ 12 ในชื่อ Memoirs of an Imperfect Angel มีซิงเกิลแรกคือ "Obsessed" เข้าชาร์ตสัปดาห์แรกที่อันดับ 11 และทำอันดับสูงสุดที่อันดับ 7 บนบิลบอร์ดฮอต 100 ถือเป็นซิงเกิลลำดับที่ 40 ที่ติดชาร์ตนี้ ทั้งนี้แครีย์ถือเป็นนักร้องหญิงคนที่ 8 ที่มี 40 ซิงเกิลบนบิลบอร์ดฮอต 100 โดยอารีธา แฟรงกลิน มีมากที่สุดอยู่ 76 เพลง[83]
ซิงเกิลที่ 2 ของอัลบั้ม นำเพลงเก่าของโฟไรเนอร์มาทำใหม่ ที่ชื่อ "I Want to Know What Love Is" ขึ้นอันดับสูงสุดด้วยอันดับ 60 บนบิลบอร์ดฮอต 100 ซึ่งก็ประสบความสำเร็จระดับปานกลางในที่อื่นทั่วโลก อัลบั้ม Memoirs of an Imperfect Angel ออกวางขายวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 2009 ในสหรัฐอเมริกา เปิดตัวสัปดาห์แรกบนบิลบอร์ด 200 ที่อันดับ 3 กับยอดขาย 168,000 ชุด น้อยกว่าอัลบั้มก่อนหน้านี้ E=MC2 อย่างมาก[84] เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 2009 ในระหว่างการแสดงส่วนตัวในนิวยอร์กเธอประกาศว่า ซิงเกิลที่ 3 ของอัลบั้มนี้จะเป็นซิงเกิล "H.A.T.E.U."[85][86] แครีย์ได้แสดงคอนเสิร์ตเล็ก ๆ ในที่พักเพื่อประชาสัมพันธ์คอนเสิร์ตของเธอที่ชื่อ Live At The Pearl ที่เธอแสดงเป็นเวลา 2 วันในเดือนกันยายนในลาสเวกัส ก่อนที่อัลบั้มจะออก 2 วัน[87] แครีย์แสดงในคอนเสิร์ตก่อนวันปีใหม่ในปี 2009 ที่เมดิสันสแควร์การ์เดน ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของทัวร์คอนเสิร์ตใหม่ของเธอ
วันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 2010 ผลงานอัลบั้มชุดต่อมาของเธอจะออกจำหน่ายในชื่อว่า Angels Advocate ซึ่งเป็นอัลบั้มที่รวบรวมเพลงทั้งหมดของอัลบั้ม Memoirs of an Imperfect Angels มาทำใหม่ในรูปแบบเพลงรีมิกซ์ มีศิลปินรับเชิญมาร่วมงานอย่างนี-โย, อาร์. เคลลี, แมรี เจ. ไบลจ์ และนิกกี มานาจ ทั้งนี้แครีย์ยังได้ร่วมงานกับโปรดิวเซอร์เช่นเจอร์เมน ดูปรีและทิมบาแลนด์ด้วย แต่ในท้ายที่สุดก็ได้ประกาศยกเลิกไป เพราะเห็นว่าตัวอัลบั้มไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร[88] เพลง 100% เป็นเพลงที่แต่เดิมจะใช้ประกอบภาพยนตร์ พรีเชียส ที่แครีย์ร่วมแสดง แต่ต่อมาเพลงนี้ได้ใช้เป็นเพลงประกอบการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2010 ที่จัดขึ้นที่ประเทศแคนาดา ซึ่งมิวสิกวีดีโอของเพลงดังกล่าวได้ถ่ายทำในระหว่างที่แครีย์ทัวร์คอนเสิร์ต ณ เมืองโทรอนโต ประเทศแคนาดา[89]
บทบาททางการแสดง
[แก้]แครีย์ได้ก้าวเข้าสู่หนทางการเป็นนักแสดง โดยได้เริ่มเรียนการแสดงในปี 1997 ปีถัดมาเธอได้ลองทดสอบความสามารถการแสดงจนได้แสดงเป็นตัวประกอบในภาพยนตร์เรื่อง เดอะ แบชเชอเรอร์ ผู้ชายหัวใจเวอร์จิ้น (1999) นำแสดงโดย คริส โอ'ดอนเนลล์ และเรเน่ เซลเวเกอร์ โดยเธอแสดงเป็นนักร้องโอเปรา ซีเอ็นเอ็นวิจารณ์บทบาทครั้งนี้ของเธอไว้ว่า "เธอแสดงไม่เป็น"[90]
เรื่องต่อมาแครีย์ได้แสดงในภาพยนตร์กึ่งอัตชีวประวัติของเธอ เรื่อง กลิตเตอร์ (Glitter) (2001) โดยครั้งนี้เธอได้รับบทเป็นนักแสดงนำ โดบร่วมกับแม็กซ์ บีสลีย์ (Max Beesley) เรื่องนี้ล้มเหลวทั้งรายได้และคำวิจารณ์[91] เลสลี ฮัลลิเวลล์วิจารณ์ไว้ว่า "เป็นการแสดงที่จืดชืด ปราศจากความสามารถทางด้านการแสดง"[92] หนังสือพิมพ์วิลเลจวอยซ์ เขียนไว้ว่า "เมื่อเธอพยายามจะแสดงบทอารมณ์ เธอแสดงเหมือนว่าเธอทำกุญแจรถหาย"[93] อีกทั้งแครีย์ยังได้รางวัลแรซซีจากบทบาทในภาพยนตร์เรื่องนี้ เธอให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า "แนวความคิดของหนังเริ่มแรกเริ่มด้วยสามารถ แต่มาจบตรงที่การปรับให้เป็นเด็กอายุ 10 ขวบ ฉันสูญเสียความกล้าลงไป และมันก็วนเวียนอยู่ในหัวฉันตลอดเรื่องนี้"[56]
เรื่องที่ 3 ของแครีย์ได้แสดงเป็นตัวประกอบในภาพยนตร์เรื่องไวซ์เกิร์ลส์ (WiseGirls) (2002) แสดงร่วมกับมิร่า ซอวิโน และ เมโลรา วอลเตอร์ส โดยในเรื่องนี้เธอได้รับบทเป็นบริกรสาว[94] เสียงวิจารณ์เรื่องนี้ ฮอลลีวูดรีพอร์ต กล่าวว่า "เสียงเสียดสีจากเรื่องกลิตเตอร์ของนักร้องคนนี้ จะถูกลืมไป"[95] โรเจอร์ ฟรายด์แมน เขียนวิจารณ์ไว้ว่า "เธอเป็น เทลมา ริตเตอร์แห่งสหัสวรรษใหม่" และพูดต่อว่า "บทพูดของเธอดูคมคายและเธอก็จัดการให้คนหัวเราะได้ถูกจังหวะ"[96] และแครีย์ยังได้แสดงในภาพยนตร์เรื่องเดธ ออฟ อะ ไดนาสตี (Death of a Dynasty) (2003) และ สเตท พร็อพเพอร์ตี 2 (State Property 2) (2005)
ในส่วนทางด้านละครโทรทัศน์แครีย์ได้ร่วมแสดงในอัลลี แม็คบีล (Ally McBeal) ช่วงเดือนมกราคม ปี 2002 ล่าสุดในปี 2006 เธอได้แสดงในภาพยนตร์ต้นทุนต่ำเรื่องเทนเนซซี (Tennessee) รับบทเป็นบริกรสาวที่เดินทางกับพี่ชาย 2 คนเพื่อตามหาพ่อที่หายไป[97] และในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 2007 เว็บไซต์โจโบล.คอม รายงานว่าเธอจะแสดงในภาพยนตร์ของอดัม แซนด์เลอร์ ในภาพยนตร์เรื่อง อย่าแหย่โซฮาน (You Don't Mess with the Zohan) โดยแสดงเป็นตัวเธอเอง[98] ในปี 2009 เธอรับบทเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ในภาพยนตร์ พรีเซียส ซึ่งดัดแปลงมาจากบทประพันธ์เรื่อง Push ของแซปไฟร์[99] ภาพยนตร์ได้รับเสียงวิจารณ์แง่บวก เช่นเดียวกับการแสดงของแครีย์ด้วย[100][101] นิตยสารวาไรตีอธิบายการแสดงของเธอว่า "ระดับสมบูรณ์แบบ"[102] ภาพยนตร์ พรีเซียส ได้รับรางวัลทั้งจากเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์และเทศกาลภาพยนตร์โทรอนโต[103][104][105] ในเดือนมกราคม 2010 แครีย์ได้รับรางวัลนักแสดงดาวรุ่งจากบทบาทการแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปาล์มสปริงส์[106]
ผลงานการแสดง
[แก้]- เดอะ แบชเชอเรอร์ ผู้ชายหัวใจเวอร์จิ้น (The Bachelor) (1999)
- กลิตเตอร์ (Glitter) (2001)
- ไวซ์เกิร์ลส์ (WiseGirls) (2002)
- เดธ ออฟ อะ ไดนาสตี (Death of a Dynasty) (2003)
- เดอะ พราวด์ แฟมิลี (The Proud Family) (2003)
- สเตท พร็อพเพอร์ตี 2 (State Property 2) (2005)
- เทนเนซซี (Tennessee) (2007)
- อย่าแหย่โซฮาน (You Don't Mess with the Zohan) (2008)
- พรีเชียส (Precious: Based on the Novel "Push" by Sapphire) (2009)
สไตล์เพลง และ ความสามารถ
[แก้]แครีย์เคยพูดว่าเธอได้รับการกระตุ้นจากนักร้องอาร์แอนด์บีและโซลจากศิลปินอย่าง บิลลี ฮอลิเดย์, ซาราห์ วอห์น, แกลดีส์ ไนท์ , อารีธา แฟรงคลิน, อัล กรีน และ สตีวี่ วันเดอร์ เธอได้รับอิทธิพลจากดนตรีแนวกอสเปล และนักร้องแนวกอสเปลที่เธอชื่นชอบคือ เดอะ คลาร์ก ซิสเตอร์ส , เชอร์ลีย์ เซซาร์ และ เอดวิน ฮอกินส์[107] แต่เมื่อแครีย์เริ่มหันมาทำดนตรีแนวฮิปฮอป มีการกล่าวว่า เธอกำลังทำเพลงที่นิยมในขณะนั้น เธอบอกกับนิตยสารนิวส์วีค ว่า "ไม่มีใครเข้าใจว่า ฉันเติบโตมากับดนตรีจำพวกนี้"[108] โดยแครีย์ออกมาเปิดเผยว่าเธอชื่นชอบศิลปินอย่าง เดอะ ซูการ์ฮิลล์ แกงก์ , อีริค บี แอนด์ ราคิม , เดอะ วู-แทง แคลน , เดอะ โนทอเรียส บีไอจี และ ม็อบบ์ ดีพ , ที่เธอได้ร่วมงานในเพลง "The Roof (Back in Time)"[17]
ตลอดอาชีพการร้องเพลง เสียงร้อง แนวทางดนตรี รวมถึงระดับความสำเร็จของเธอ ก็มักได้รับการเปรียบเทียบกับ วิทนีย์ ฮูสตัน และ เซลีน ดิออน ซึ่งก็มีคำวิจารณ์ของแกร์รี มูลฮอลแลนด์ไว้ว่า "เหล่าบรรดาเจ้าหญิง เสียงสูง เธอเป็นผู้ช่ำชองในการใช้เสียงกับเพลงป็อปฮิตติดตลาด"[109] แต่ก็มีนักเขียนบางคนเขียนว่าเธอแตกต่างจาก วิทนีย์ ฮูสตัน และ เซลีน ดิออน ตรงที่เธอเขียนเพลงเองด้วย[110]
เสียงร้อง
[แก้]มารายห์ แครีย์เป็นนักร้องโคโลราทูราโซปราโน (coloratura soprano คือนักร้องระดับเสียงสูงสุดของผู้หญิงที่สามารถใช้เสียงได้หลากหลายด้วยเทคนิคอันแพรวพราวและร้องเสียงเฮดโทนวอยซ์ได้)[111] เสียงเธอมีความกว้างถึงห้าออกเตฟและมีเอกลักษณ์จากความสามารถในการร้องเสียงสูงใน whistle register (เสียงร้องเสียงสูงที่สูงกว่า E6) โน้ตที่สูงที่สุดที่เธอร้องได้คือ Bb7[15] (โน้ตที่สูงกว่า C7 ซึ่งเป็นโน้ตสูงสุดบนคีย์บอร์ดมาตรฐานอยู่ห้าเสียงครึ่ง หรือสูงกว่าโน้ตสูงที่สุดบนคีย์ของเปียโนซึ่งมีอยู่ 88 คีย์) เธอยังได้รับการบันทึกจากหนังสือกินเนสบุ๊คว่าเธอเป็นนักร้องที่สามารถร้องโน้ตได้สูงที่สุดในปี 2003[112] แครีย์มักจะได้รับคำกล่าวอย่างผิด ๆ ว่ามีเสียงร้องถึงเจ็ดออกเตฟ สาเหตุเนื่องจากการกล่าวเกินจริงในสมัยที่เธอเพิ่งเข้าวงการใหม่ ๆ[113] บางทีคำกล่าวนี้อาจจะเกิดจากการเข้าใจผิดเกี่ยวกับความสามารถในการใช้เสียงของเธอในการร้องเสียงสูงใน whistle register โดยเฉพาะโน้ตเพลงในออกเตฟที่เจ็ด
ในปี 2003 แครีย์ ได้รับการลงคะแนนเสียงให้เป็นนักร้องเสียงดีที่สุดจากรายการเดอะ เกรทเท็ส วอยเซ็ส อิน มิวสิก (The Greatest Voices in Music) ของสถานีโทรทัศน์เอ็มทีวี และนิตยสารเบล็นเดอร์ของอเมริกา โดยจากการจัดอันดับ มีศิลปินดังอย่างวิทนีย์ ฮูสตัน ซึ่งอยู่อันดับสาม คริสติน่า อากีเลร่า อันดับห้า และ เซลีน ดิออน ซึ่งอยู่อันดับที่เก้า[114] แครีย์ให้ความเห็นกับแบบสำรวจนี้ว่า "นี่เป็นแบบสำรวจของคนรุ่นเอ็มทีวี แน่นอนว่าเป็นคำชมเชยที่ดี แต่ฉันก็ไม่รู้สึกอะไรเกี่ยวกับตัวฉันอย่างนั้น"[112]
สำหรับคำวิจารณ์ในด้านเสียงร้องของเธอ นิตยสารโรลลิงสโตนพูดไว้ว่า ในช่วงที่เธอออกอัลบั้ม Emotions "แครีย์ได้พรสวรรค์นี้มา แต่ถึงวันนี้ โชคไม่ดีที่การร้องของเธอมันไกลไปเกินประทับใจกว่าที่เธอได้แสดงออกมา กับระดับเสียงร้องที่สูงเกินกว่ามนุษย์ ผ่านโน้ตเพลงที่เกินกว่าจะเชื่อได้ว่าเธอกำลังร้องอยู่"[115] นิวยอร์กเดลีนิวส์เขียนไว้ในปี 2005 ว่า "การร้องของเธอ เป็นเรื่องของการแสดง ไม่ใช่เรื่องของอารมณ์ที่เป็นแรงดลใจ ... การที่มีเสียงดี จะเป็นนักร้องที่ดีได้หรือไม่ ...ค่อนข้างยาก"[116] และมีหลายคนตีความว่า เธอได้เปลี่ยนการร้องในลักษณะ มีลมหายใจออกมาด้วย ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 ถึงต้นทศวรรษ 2000 เสียงของเธอทรุดโทรมลง แต่เธอก็ยังคงบอกว่า "เสียงฉันก็ยังคงเป็นแบบนี้มาโดยตลอด"[117] และในปี 2007 แครีย์อยู่ในอันดับนักร้องที่แย่ที่สุดตลอดการของนิตยสารคิว จากการสำรวจของผู้อ่าน โดยนิตยสารเขียนไว้ว่า "ถึงแม้ว่า มารายห์ แครีย์จะมีเสียงช่วงกว้างถึง 5 ออกเตฟและมีเสียงดังที่ทำให้รังนกตกจากต้นไม้ได้ แต่มันก็ไม่ดี"[118]
เสียงของเธอในปัจจุบัน
[แก้]นับตั้งแต่ปี 2001 ที่เธอได้เข้าโรงพยาบาล โดยทีมแพทย์พบว่า ได้เกิดตุ่มบริเวณเส้นเสียงของเธอ ทำให้อาจไม่สามารถร้องเพลงได้เท่าเดิม แต่แครีย์ยังออกมายืนยันว่า เสียงของเธอยังคงเป็นเหมือนเดิม โดยในปี 2002 เธอได้ออกอัลบั้มและทัวร์ในปี 2003–2004 โดยเสียงของเธอกลับมาดีขึ้น แต่ในปี 2014 เสียงของเธอมีปัญหาระหว่างการร้องเพลง Vision of Love ในการแสดงคอนเสิร์ตที่โตเกียว[119]
ธีมและสไตล์เพลง
[แก้]แครีย์มักจะเขียนเพลงที่มีเนื้อเพลงเกี่ยวกับความรัก บางครั้งเธอก็ได้เขียนเนื้อเพลงที่เกี่ยวกับการเหยียดสีผิว ความตาย ความหิวโหย และเรื่องของความเชื่อจิตและวิญญาณ โดยภาคดนตรี ได้ใช้เครื่องดนตรีอีเลคโทรนิค เช่น ดรัม แมชชีน, คีย์บอร์ด และ เครื่องสังเคราะห์เสียง โดยหลาย ๆ เพลงของเธอจะมีเปียโนประกอบอยู่ด้วย แครีย์เคยเรียนเปียโนตอนอายุ 6 ขวบ แต่เธอบอกว่าเธอไม่สามารถอ่านโน้ตได้แต่ชอบที่จะร่วมแต่งเพลงกับนักเปียโนเวลาแต่งเพลง และมันง่ายกว่าที่จะทดลองด้วยการรวมเมโลดี้และโครงสร้างคอร์ดด้วยวิธีนี้ การเรียบเรียงเพลงของแครีย์ได้รับอิทธิพลจากสตีวี่ วันเดอร์ ที่เธอเคยยกยอว่าเป็นอัจฉริยะแห่งศตวรรษที่ 20[17]
แครีย์เริ่มรีมิกซ์เพลงของเธอตั้งแต่ช่วงต้น และเป็นผู้นำที่จะร้องใหม่ในรีมิกซ์ของเธอ โดยดีเจ เดวิด มอราเลสได้ร่วมงานกับเธออยู่หลายครั้ง เริ่มจากเพลง "Dreamlover" (ปี 1993) รีมิกซ์ของเพลงนี้ได้รับความนิยมในหมู่วงการเพลงเฮาส์โดยนิตยสารสแลนท์ ยกย่องให้เป็นเพลงเต้นรำที่ดีที่สุดเพลงหนึ่ง[120] เพลง "Fantasy" (ปี 1995) เธอได้ร่วมแต่งรีมิกซ์ทั้งในรูปแบบแนวดนตรีฮิปฮอปและเฮาส์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ วีคลีได้ยกให้ทั้งสองรีมิกซ์ของเพลง "Fantasy" เป็นหนึ่งเพลงเยี่ยมที่สุดของเธอ[121]
แครีย์ยังคงร่วมงานการทำเพลงรีมิกซ์กับโปรดิวเซอร์อย่าง เดวิด มอราเลส, เจอร์เมน ดูปริ, จูเนียร์ วาสเควซ และ ดีเจ คลูย์
กิจกรรมการกุศลและงานอื่น ๆ
[แก้]กิจกรรมการกุศล
[แก้]แครีย์เธอได้เป็นคนใจบุญใจกุศล ได้ร่วมการบริจาคเงินนับล้าน ๆ ดอลล่าร์ให้แก่องค์กรการกุศลอย่างเช่น เมค-อะ-วิช ฟาวเดชัน (Make-A-Wish Foundation) , เนชันนอลอะดอบชันเซ็นเตอร์ (National Adoption Center) , โครงการของวีเอชวันเซฟเดอะมิวสิก (Save The Music Foundation) , เฟร็ชแอร์ฟันด์ (Fresh Air Fund)[122] และอื่น ๆ
แครีย์ได้เป็นที่รู้จักกันดีในการช่วยเหลืองานในมูลนิธิเมค-อะ-วิช ฟาวเดชัน (ช่วยเหลือเด็กที่ป่วย) นอกจากนั้นเธอยังเป็นอาสาสมัครให้แก่นิวยอร์ก เพรบีทีเรียน ฮอสปิทอล คอร์เนลล์ เมดิคัล เซ็นเตอร์ ยอดการขายอัลบั้ม "MTV Unplugged" ก็ได้บริจาคให้การกุศลหลายโครงการ[123] ในปี 1998 แครีย์ได้ร่วมงานกับวีเอชวัน ดีวาส์ (VH1 Divas Live) ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตหารายได้ให้แก่เด็กที่ขาดแคลนเครื่องดนตรีในมูลนิธิเซฟเดอะมิวสิก เธอร่วมงานกับวีเอชวันอีกครั้งในปี 2006 ในรายการวีเอชวันเซฟเดอะมิวสิก และล่าสุดในปี 2007 นี้ แครีย์จะร่วมงานกับวีเอชวันอีกครั้งฉลองครบรอบ 10 ปีมูลนิธิเซฟเดอะมิวสิก[124]
แครีย์ร่วมร้องเพลงในงานอเมริกา: อะ ทริบิวท์ ทู ฮีโรส์ (America: A Tribute to Heroes) เป็นการหารายได้ทางรายการโทรทัศน์จากเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน[125] และในเดือนธันวาคม 2001 แครีย์ได้ร้องเพลงให้แก่กองทัพอเมริกันก่อนไปคอซอวอ นอกจากนั้นเธอยังได้เป็นพิธีกรให้แก่รายการพิเศษของสถานีซีบีเอส รายการแอ็ท โฮม ฟอร์ เดอะ ฮอลิเดย์ส (At Home for the Holidays) เป็นสารคดีเกี่ยวกับลูกอุปถัมภ์ เธอยังได้ร่วมงานกับนิวยอร์ก ซิตี้ แอดมินิสเตรชัน ฟอร์ ชิลเดรนส์ เซอร์วิส (New York City Administration for Children's Services) ในปี 2005 เธอได้ร่วมแสดงในงานคอนเสิร์ตไลฟ์เอทในลอนดอน[126] และช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุเฮอร์ริเคนแคทรีนา[123] ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2008 แครีย์ร่วมกับนักร้องอื่นร่วมกับบันทึกเสียงซิงเกิลการกุศลที่ชื่อ "Just Stand Up" โปรดิวซ์โดยเบบี้เฟซและแอล. เอ. รีด เพื่อสนับสนุนโครงการ "สแตนด์อัปทูแคนเซอร์" โดยในวันที่ 5 กันยายน เหล่านักร้องได้ร่วมการแสดงสดบนโทรทัศน์[127]
งานอื่น ๆ
[แก้]สำหรับงานอื่น ๆ ในช่วงแรก ๆ เธอไม่เคยมีงานเกี่ยวข้องกับแบรนด์การค้า จนกระทั่งในปี 2006 เมื่อเธอได้ร่วมกับ อินเทล เซ็นทริโน คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และยังได้ร่วมเปิดผลิตภัณฑ์อัญมณีและของใช้เกี่ยวกับวัยรุ่น และร้านเสื้อผ้าผู้หญิงอย่าง แคลร์[128] และยังได้ร่วมงานกับเป๊ปซี่และโมโตโรลา เธอยังได้บันทึกเสียงและประชาสัมพันธ์ให้แก่งานโฆษณา มีเพลงริงโทนชื่อ "Time of Your Life"[129] เธอเซ็นสัญญากับบริษัทเครื่องสำอาง เอลิซาเบธ อาร์เด็น และในปี 2007 เธอออกน้ำหอมที่ชื่อว่า "M"[130][131]
จากข้อมูลของนิตยสารฟอร์บ แครีย์ถือเป็นสตรีที่ร่ำรวยที่สุดในวงการบันเทิงเป็นอันดับ 6 (ข้อมูลเดือนมกราคม 2007) กับรายได้กว่า 225 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[132] ในปี 2008 แครีย์ยังติดอันดับของนิตยสารไทม์ประจำปี ในหัวข้อ 100 อันดับบุคคลทรงอิทธิพล[133][134][135] ในเดือนมกราคม 2010 แครีย์ประกาศผ่านทางทวิตเตอร์ของเธอว่าจะออกแบรนด์แชมเปญสีกุหลาบ ที่ชื่อ แองเจิลแชมเปญ[106]
ผลงานเพลง
[แก้]- Mariah Carey (1990)
- Emotions (1991)
- Music Box (1993)
- Merry Christmas (1994)
- Daydream (1995)
- Butterfly (1997)
- Rainbow (1999)
- Glitter (2001)
- Charmbracelet (2002)
- The Emancipation of Mimi (2005)
- E=MC² (2008)
- Memoirs of an Imperfect Angel (2009)
- Merry Christmas II You (2010)
- Me. I Am Mariah... The Elusive Chanteuse (2014)
- Caution (2018)
คอนเสิร์ต
[แก้]- 1993: Music Box Tour
- 1996: Daydream World Tour
- 1998: Butterfly World Tour
- 2000: Rainbow World Tour
- 2003–2004: Charmbracelet World Tour
- 2006: The Adventures of Mimi Tour
- 2009–2010: Angels Advocate Tour
- 2014-2015: The Elusive Chanteuse Show
- 2015-2016: #1 To Infinity
- 2016: The Sweet Sweet Fantasy Tour
- 2018 The butterfly returns
- 2019 Caution World Tour
หมายเหตุ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ Shapiro, Marc. Mariah Carey (2001). pg. 145. UK: ECW Press, Canada. ISBN 1-55022-444-1.
- ↑ Lamb, Bill. "Mariah Carey- Comeback of the Year". About.com. June 4, 2005. Retrieved March 12, 2008.
- ↑ Anderman, Joan. "Cary's On". The Boston Globe. February 5, 2006. Retrieved March 12, 2008.
- ↑ "Mariah's New Single Available At iTunes on Sept. 15th!". Island Def Jam Music Group. สืบค้นเมื่อ 2008-10-13.
- ↑ "MARIAH CAREY's NEW SINGLE "I WANT TO KNOW WHAT LOVE IS" IMPACTS AT RADIO ON SEPT. 14th". Universal Music Group. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-17. สืบค้นเมื่อ 2009-11-14.
- ↑ "CELEBRATE NEW YEAR'S EVE WITH MARIAH CAREY!". Mariah Carey official website. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-11-09. สืบค้นเมื่อ 2009-11-14.
- ↑ "Winners of the World Music Awards". World Music Awards. May 2000. Retrieved November 19, 2006 from the Wayback Machine; "Michael Jackson And Mariah Carey Named Best-Selling Artists Of Millennium At World Music Awards In Monaco" เก็บถาวร 2010-06-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Jet. May 29, 2000. Retrieved November 19, 2006.
- ↑ "Gold and Platinum - Top Selling Artists". Recording Industry Association of America
- ↑ "BLABBERMOUTH.NET - METALLICA Among Top-Selling Artists Of SOUNDSCAN Era". Roadrunnerrecords.com. สืบค้นเมื่อ 2009-10-21.
- ↑ Pietroluongo, Silvio. Mariah, Madonna Make Billboard Chart History. Billboard. April 2, 2008. Retrieved April 2, 2008.
- ↑ Jeff C (18 August 2004). "Mariah Carey's Entire Octave Range Is Not Seven Or Five". popdirt.com.
- ↑ , Marc. Mariah Carey (2001). หน้า 16. UK: ECW Press, Canada. ISBN 1-55022-444-1. (อังกฤษ)
- ↑ 13.0 13.1 "Mariah Carey:People.com." เว็บไซต์ people.com (อังกฤษ)
- ↑ Handelman, David. "Miss Mariah". Cosmopolitan. December 1997. (อังกฤษ)
- ↑ 15.0 15.1 15.2 15.3 ประวัติในเว็บไซต์ imdb.com (อังกฤษ)
- ↑ "Star Is Burrn: Mariah Carey" มิวสิกเอกซ์เพรส ฉบับที่ 62 หน้า 32 (ไทย)
- ↑ 17.0 17.1 17.2 Gardner, Elysa. "Cinderella Story". VIBE. April 1996. (อังกฤษ)
- ↑ 18.00 18.01 18.02 18.03 18.04 18.05 18.06 18.07 18.08 18.09 18.10 18.11 Mariah Carey: Artist Chart History (Single) (อังกฤษ)
- ↑ 33rd Grammy Awards - 1991 จากเว็บไซต์ rockonthenet.com (อังกฤษ)
- ↑ 20.0 20.1 20.2 20.3 20.4 Dafydd Rees and Luke Crampton ,Q Rock Stars Encyclopedia (1999) ,Dorling Kindersley,หน้า 170-172 (อังกฤษ)
- ↑ Mariah Carey 'Emotions' เก็บถาวร 2012-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์ about.com (อังกฤษ)
- ↑ Evans, Paul. The Rolling Stone Album Guide (1992). pg. 110–111. UK: Virgin Books. ISBN 0-86369-643-0. (อังกฤษ)
- ↑ Carole King Wilson & Alroy's Record Review
- ↑ Shapiro, pg. 62. (อังกฤษ)
- ↑ Sandow, Greg. "MTV Unplugged EP". Entertainment Weekly. June 19, 1992. (อังกฤษ)
- ↑ White, Timothy. "Mariah Carey's stirring 'Music Box'". Billboard. New York: pg. 5, August 28, 1993, Vol. 105, Iss. 35. (อังกฤษ)
- ↑ Farley, Christopher John. "Hurray! a B Minus!" เก็บถาวร 2005-03-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. TIME. 6 กันยายน ค.ศ. 1993. เรียกดูเมื่อ 4 มีนาคม ค.ศ. 2006. (อังกฤษ)
- ↑ Shapiro, pg. 78. (อังกฤษ)
- ↑ Shapiro, pg. 84. (อังกฤษ)
- ↑ Ramon Thomas.Story behind Endless Love เก็บถาวร 2007-05-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Billboard Book of Number Two’s (อังกฤษ)
- ↑ ซิงเกิลในญี่ปุ่นที่ขายได้เกิน 1 ล้านชุด ดูที่อันดับ 188 (ญี่ปุ่น)
- ↑ Parisien, Roch. "Merry Christmas - Review". All Music Guide. เรียกดูเมื่อ 17 มีนาคม ค.ศ. 2006. (อังกฤษ)
- ↑ Healey, Mitchell. "Carey On". V. January 20, 2006. (อังกฤษ)
- ↑ Shapiro, pg. 92.
- ↑ Columbia Records to Release Mariah Carey's #1's On November 17 (อังกฤษ)
- ↑ นิติเทพ คูณค้ำ "Top records of the year 1995" Year Book 1996, I.S. Song Hits หน้า 294 (ไทย)
- ↑ นิติเทพ คูณค้ำ "Top records of the year 1997" Year Book 1998, I.S. Song Hits หน้า 321 (ไทย)
- ↑ อันดับเพลงในปี 1996 เก็บถาวร 2007-04-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก alaskajim.com (อังกฤษ)
- ↑ Shapiro, pg. 94-96. (อังกฤษ)
- ↑ Holden, Stephen. "Mariah Carey Glides Into New Territory". The New York Times. pg. 76, 13 ตุลาคม ค.ศ. 1995. (อังกฤษ)
- ↑ Shapiro, Marc. Mariah Carey (2001). หน้า 97-98. UK: ECW Press, Canada. ISBN 1-55022-444-1. (อังกฤษ)
- ↑ 42.0 42.1 42.2 42.3 42.4 Mariah Carey: Artist Chart History (Album) (อังกฤษ)
- ↑ Mariah Carey's Biography. Fox News. 24 มีนาคม ค.ศ. 2008. เรียกดูเมื่อ 1 เมษายน ค.ศ. 2008 (อังกฤษ)
- ↑ Shapiro, pg. 101. (อังกฤษ)
- ↑ Reynolds, J.R. "Album Review: Butterfly" เก็บถาวร 2008-07-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Yahoo! Music. 16 กันยายน ค.ศ. 1997. เรียกดูเมื่อ 17 มีนาคม ค.ศ. 2006 (อังกฤษ)
- ↑ Why is Mariah the greatest singer & songwriter in the world? (อังกฤษ)
- ↑ Brenda K Starr จากเว็บไซต์ beastiemania.com (อังกฤษ)
- ↑ Full list of Oscar Winners 1999 จากเว็บไซต์ bbc.co.uk (อังกฤษ)
- ↑ "#1's". NME. เรียกดูเมื่อ 10 มีนาคม ค.ศ. 2006 (อังกฤษ)
- ↑ THE TEN MOST EXPENSIVE MUSIC VIDEOS? เก็บถาวร 2007-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์ soyouwanna.com (อังกฤษ)
- ↑ Virtue, Graham. "Rainbow, Mariah Carey". Sunday Herald, 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1999 (อังกฤษ)
- ↑ "Mariah Carey, Rainbow". VIBE. pg. 258, December 1999. (อังกฤษ)
- ↑ No. 1 single for every year of the 1990's เก็บถาวร 2008-01-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
- ↑ 54.0 54.1 Record deal will keep EMI rocking จากเว็บไซต์ scotsman.com (อังกฤษ)
- ↑ Friedman, Roger. "Mariah Melts Down; Madonna Disappoints". FOX News. July 26, 2001. เรียกดูเมื่อ March 17, 2006. (อังกฤษ)
- ↑ 56.0 56.1 Gardner, Elysa. "Mariah Carey, 'standing again'". USA Today. 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 2002. เรียกดูเมื่อ 17 มีนาคม ค.ศ. 2006 (อังกฤษ)
- ↑ Carey Shocked by MTV Striptease Fuss[ลิงก์เสีย] จาก The Internet Movie Database วันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ 2002 (อังกฤษ)
- ↑ Brian Hiatt,Mariah's 'Glitter' Falls Short Of Box Office Top 10 เว็บไซต์ mtv.com (อังกฤษ)
- ↑ Johnson, Kevin C. "Mariah Carey's New "Glitter" Is a Far Cry from Golden". St. Louis Post-Dispatch. pg. F.5, September 16 2001 [FIVE STAR LIFT Edition] (อังกฤษ)
- ↑ "Glitter". Blender. pg. 118, August-September 2001.
- ↑ Cook, Shanon."Mariah before breakdown -- 'It all seems like one continuous day'" เก็บถาวร 2008-10-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน CNN. August 14, 2001. เรียกดูเมื่อ March 17, 2006. (อังกฤษ)
- ↑ "The fall and rise of Mariah Carey". BBC.co.uk. 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2006. เรียกดูเมื่อ 12 มีนาคม ค.ศ. 2006 (อังกฤษ)
- ↑ Mariah sings under the Caprese moon เก็บถาวร 2007-05-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์ mariahdaily.com (อังกฤษ)
- ↑ Life In Legacy - Week of July 20, 2002 เก็บถาวร 2007-08-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
- ↑ Anderman, Joan. "For Carey, the Glory's Gone but the Glitter Lives On". Boston Globe. pg. D.4, 10 กันยายน ค.ศ. 2003 [THIRD Edition]. (อังกฤษ)
- ↑ Walters, Barry. "Charmbracelet" เก็บถาวร 2007-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Rolling Stone. New York: pg. 93, 12 ธันวาคม ค.ศ. 2002, iss. 911. (อังกฤษ)
- ↑ Mariah at Pure Club (อังกฤษ)
- ↑ Discography:THE EMANCIPATION OF MIMI เก็บถาวร 2007-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์ mcarchives.com (อังกฤษ)
- ↑ มารายห์ รับสาม, ยูทู กวาดสี่ รางวัลแกรมมี 2006 จากเว็บไซต์ Manager.co.th (ไทย)
- ↑ Complete list of 2007 Grammy winners and nominees เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์ baltimoresun.com (อังกฤษ)
- ↑ Sullivan, Caroline. "Mariah Carey, The Emancipation of Mimi". The Guardian. 1 เมษายน ค.ศ. 2005. เรียกดูเมื่อ 17 มีนาคม ค.ศ. 2006. (อังกฤษ)
- ↑ Jay-Z, U2, Madonna, Pink Floyd Deliver Live 8 Highlights เว็บไซต์ mtv.com (อังกฤษ)
- ↑ "Hollywood Walk of Fame names 2007 honorees" Associated Press. June 23, 2006. เรียกดูเมื่อ August 1, 2006. ยอดขายรวม 16 ล้านแผ่น (อังกฤษ)
- ↑ "One on One with Mariah!" เก็บถาวร 2007-08-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Entertainment Tonight. August 31, 2006 (อังกฤษ)
- ↑ MARIAH CAREY ANNOUNCES E=MC²!! เก็บถาวร 2008-02-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน gourban.net (อังกฤษ)
- ↑ Mariah's Got The 'Touch' With 18th No. 1 billboard.com (อังกฤษ)
- ↑ [Whitburn, Joel, Top Pop Singles 1955-2006, pg. 1139]
- ↑ Dubin, Danielle (2008-05-02). "Nick Cannon Relative Confirms He Married Mariah". people.com. สืบค้นเมื่อ 2008-05-03.
- ↑ "Nick Cannon's Family Confirms He's Wed Mariah Carey". usmagazine.com. 2008-05-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-03. สืบค้นเมื่อ 2008-05-03.
- ↑ "Mariah Carey reportedly Married in Bahamas". msnbc.com. 2008-05-02. สืบค้นเมื่อ 2008-05-08.
- ↑ Liz McNeil. EXCLUSIVE: See Mariah & Nick's Wedding Photo!. People. May 7, 2008. Retrieved May 7, 2008.
- ↑ "Mariah Carey Works With Husband". MTV UK. สืบค้นเมื่อ January 31, 2009.
- ↑ The Island Def Jam Music Group. Mariah Carey Puts Finishing Touches on Her New Album, MEMOIRS OF AN IMPERFECT ANGEL, for August 25th Release. Yahoo! Finance. June 16, 2009. Retrieved June 16, 2009.
- ↑ http://www.billboard.com/#/news/barbra-streisand-surprises-with-ninth-no-1004019217.story
- ↑ "Mariah Carey angelic at New York show". Automatic Princess Holdings. 2009-10-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-10.
- ↑ "MariahDaily". Mariahjournal.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-18. สืบค้นเมื่อ 2009-10-21.
- ↑ "Official Site and Honey B. Fly Fan Club for Mariah Carey news.news". Mariahcarey.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-04. สืบค้นเมื่อ 2009-10-21.
- ↑ Mariah To Release "Angels Advocate" On March 30th! เก็บถาวร 2010-02-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน mariahcarey.com
- ↑ [1]
- ↑ Tatara, Paul. "Review: 'The Bachelor' -- cold feet, bad film". CNN.com. 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1999. เรียกดูเมื่อ 17 มีนาคม ค.ศ. 2006.
- ↑ EMI drops Mariah Carey ข่าวจาก bbc.co.uk (อังกฤษ)
- ↑ Walker, John. Leslie Halliwell Film Guide 2004: 19th Edition (2003). pg. 338. UK: HarperCollins Publishers Inc. ISBN 0-06-055408-8. (อังกฤษ)
- ↑ Atkinson, Michael. "Eat Drink Man Mariah" เก็บถาวร 2008-06-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. The Village Voice. 26 กันยายน - 2 ตุลาคม ค.ศ. 2001. เรียกดูเมื่อ 17 มีนาคม ค.ศ. 2006 (อังกฤษ)
- ↑ Despite 'Glitter,' Mariah Carey's Movie Career Could Still Sparkle จากเว็บไซต์ mtv.com (อังกฤษ)
- ↑ Honeycutt, Kirk. "Wisegirls" เก็บถาวร 2005-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. The Hollywood Reporter. 15 มกราคม ค.ศ. 2002. เรียกดูเมื่อ 17 มีนาคม ค.ศ. 2006 (อังกฤษ)
- ↑ Friedman, Roger. "Mariah Makes Good in Mob Movie". FOX News. 14 มกราคม ค.ศ. 2002. เรียกดูเมื่อ 17 มีนาคม ค.ศ. 2006 (อังกฤษ)
- ↑ มารายห์ คืนจอ รับบทสาวเสิร์ฟ ในหนังอินดี้เรื่องใหม่ เก็บถาวร 2006-04-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์ Manager.co.th (ไทย)
- ↑ Sampson, Mike. "Mariah and Sandler?". JoBlo.com. 11 มิถุนายน ค.ศ. 2007. เรียกดูเมื่อ 12 มิถุนายน ค.ศ. 2007. (อังกฤษ)
- ↑ Morales, Wilson (2009-02-20). "Lee Daniels Film Renamed 'PRECIOUS'". Black Voices. AOL. สืบค้นเมื่อ 2009-02-20.
- ↑ "Dark horse nominees: Will the Oscars nominate 'Avatar'? | Gold Derby | Los Angeles Times". Goldderby.latimes.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-25. สืบค้นเมื่อ 2009-10-21.
- ↑ "Precious: Based on the Novel PUSH by Sapphire Movie Reviews, Pictures". Rotten Tomatoes. สืบค้นเมื่อ 2009-10-21.
- ↑ By. "Precious: Based on the Novel 'Push' by Sapphire Movie Review From The Sundance Film Festival". Variety.com. สืบค้นเมื่อ 2009-10-21.
- ↑ "Entertainment | Precious film takes Toronto prize". BBC News. 2009-09-20. สืบค้นเมื่อ 2009-10-21.
- ↑ "Movies – News – 'Precious' scoops top Toronto prize". Digital Spy. 2009-09-21. สืบค้นเมื่อ 2009-10-21.
- ↑ "Precious wins top Toronto film festival prize | Entertainment". Reuters. 2009-09-19. สืบค้นเมื่อ 2009-10-21.
- ↑ 106.0 106.1 Daily News Staff (January 17, 2010). "Weeks after tipsy awards speech, Mariah Carey pops cork on her own liquor brand, Angel Champagne". NYDailynews.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-21. สืบค้นเมื่อ 2010-02-07.
- ↑ "Mariah carey ...ฤๅเธอเป็นเพียง Whitney Houston คนใหม่?" Today's English ปีที่1 ฉบับที่ 2 วันที่ 26 พ.ย. - 2 ธ.ค. พ.ศ. 2533 หน้า 56 (ไทย)
- ↑ Shapiro, Marc. Mariah Carey (2001). หน้า 124. UK: ECW Press, Canada. ISBN 1-55022-444-1. (อังกฤษ)
- ↑ Mulholland, Garry. The Illustrated Encyclopedia of Music (2003). pg. 57. UK: Flame Tree Publishing. ISBN 1-904041-70-1. (อังกฤษ)
- ↑ Guinness Rockopedia (1998). pg. 74. UK: Guinness Publishing Ltd. ISBN 0-85112-072-5. (อังกฤษ)
- ↑ Martin, Bill (2002). Pro Secrets of Heavy Rock Singing. Sanctuary Publishing, Page 9. ISBN 1-86074-437-0. (อังกฤษ)
- ↑ 112.0 112.1 Princess Positive is taking care of the inner Mariah เว็บไซต์ smh.com.au (อังกฤษ)
- ↑ Mariah Carey possesses a seven-octave vocal range ใน snopes.com (อังกฤษ)
- ↑ MTV's 22 Greatest Voices in Music (อังกฤษ)
- ↑ Tannenbaum, Rob. "Mariah Carey: Emotions"[ลิงก์เสีย]. Rolling Stone. RS 617, 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1991. เรียกดูเมื่อ 12 มีนาคม ค.ศ. 2006 (อังกฤษ)
- ↑ Farber, Jim. "More like a screaming 'Mimi'" เก็บถาวร 2009-02-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. New York Daily News. 12 เมษายน ค.ศ. 2005. เรียกดูเมื่อ 21 ตุลาคม ค.ศ. 2007 (อังกฤษ)
- ↑ "Mariah Carey Ads Say the Voice Will Be Back, but She Says It Never Left" เก็บถาวร 2006-02-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Yahoo! Music. 28 มีนาคม ค.ศ. 2005. เรียกดูเมื่อ 17 มีนาคม ค.ศ. 2006 (อังกฤษ)
- ↑ "article on popcrunch.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-23. สืบค้นเมื่อ 2008-04-11.
- ↑ Rishi Iyengar (6 October 2014). "Mariah Carey's Voice Cracked During 'Vision of Love' and Her Fans Are Upset". TIME USA.
- ↑ 100 Greatest Dance Songs: 100–91". เก็บถาวร 2006-08-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
- ↑ Gem Carey เก็บถาวร 2006-12-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Entertainment Weekly. January 2006. เรียกดูเมื่อ March 12, 2006. (อังกฤษ)
- ↑ เว็บไซต์ freshair.org เก็บถาวร 2008-04-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
- ↑ 123.0 123.1 "foxnews.com." (อังกฤษ)
- ↑ Mariah Carey & Jon Bon Jovi Join VH1 Save The Music Foundation's 10th Anniversary Celebration เก็บถาวร 2007-05-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
- ↑ Mariah Carey To Resurface For 'America' TV Tribute เว็บไซต์ mtv.com (อังกฤษ)
- ↑ Line up of the artists at Live 8 เว็บไซต์ bbc.co.uk (อังกฤษ)
- ↑ ""JUST STAND UP" STAR-STUDDED CHARITABLE SINGLE SETS PACE FOR STAND UP TO CANCER FUNDRAISING CAMPAIGN | SU2C". Standup2cancer.org. สืบค้นเมื่อ 2009-10-21.
- ↑ Paoletta, Michael. "The branding of Mimi". Billboard. 10 กรกฎาคม ค.ศ. 2006.เรียกดูเมื่อ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 (อังกฤษ)
- ↑ "Mariah Carey Hits Perfect Note With Pepsi". PR Newswire. 19 เมษายน ค.ศ. 2006. เรียกดูเมื่อ 1 สิงหาคม ค.ศ. 2006 (อังกฤษ)
- ↑ Vineyard, Jennifer and Bland, Bridget. "Mariah Wants All Fans to See Her — And Even Smell Like Her". MTV.com. 6 เมษายน ค.ศ. 2006. เรียกดูเมื่อ 7 เมษายน ค.ศ. 2006. (อังกฤษ)
- ↑ Naughton, Julie. "Ready for a Revival: More Stars Launch Scents". WWD.com. 22 มิถุนายน ค.ศ. 2007. เรียกดูเมื่อ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2007. (อังกฤษ)
- ↑ "The Richest 20 Women In Entertainment". Forbes. January 18, 2007. Retrieved January 21, 2007.
- ↑ "Sonia, Tata in Time's most influential list" เก็บถาวร 2009-05-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. expressindia.com. May 01, 2008. Retrieved May 01, 2008.
- ↑ "Tony Blair makes list of 100 most influential people – but there's no place for Gordon Brown". Daily Mail. May 01, 2008. Retrieved May 01, 2008.
- ↑ "Mariah Carey" เก็บถาวร 2009-05-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Time. May 01, 2008. Retrieved May 01, 2008.
ข้อมูล
[แก้]- Appleman, Chris (1986). The Science of Vocal Pedagogy: Theory and Application. Bloomington: Indiana University Press. ISBN 978-0-253-35110-4.
- Derschowitz, Jessica (October 28, 2010). "Mariah Carey: I'm Pregnant". CBS News. สืบค้นเมื่อ September 14, 2017.
- James, Harold (2010). Guinness Rockopedia. CBS News. Los Angeles. ISBN 978-0-85112-072-0.
- McCann, Bob (2010). Encyclopedia of African American Actresses in Film and Television. Jefferson, NC: McFarland and Company. ISBN 978-0-7864-3790-0.
- Nickson, Chris (1998). Mariah Carey revisited. New York: St. Martin's Griffin. ISBN 978-0-312-19512-0.
- Mulholland, Garry (2003). The Illustrated Encyclopedia of Music. UK: Flame Tree Publishing. ISBN 978-1-904041-70-2.
- Peckham, Anne (2005). Vocal Workouts for the Contemporary Singer. Boston: Berklee Press. ISBN 978-0-87639-047-4.
- Shapiro, Marc (2001). Mariah Carey. ECW Press. ISBN 978-1-55022-444-3.
- Sleeman, Chris (1986). The Science of Vocal Pedagogy: Theory and Application. Bloomington: Indiana University Press. ISBN 978-0-253-35110-4.
- Swaine, Elizabeth, บ.ก. (2003). "'Mariah Carey' in The International Who's Who 2004". London: Europa Publications. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 10, 2022.
- Thompson, Ben (2003). The Illustrated Encyclopedia of Music. UK: Flame Tree Publishing. ISBN 978-1-904041-70-2.
อ่านเพิ่ม
[แก้]- Fred Bronson's Billboard Book of Number 1 Hits, 5th Edition (ISBN 0-8230-7677-6)
- Joel Whitburn Presents the Billboard Hot 100 Charts: The Sixties (ISBN 0-89820-074-1)
- Joel Whitburn Presents the Billboard Hot 100 Charts: The Nineties (ISBN 0-89820-137-3)
- Additional information concerning Carey's chart history can be retrieved and verified in Billboard's online archive services and print editions of the magazine.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- บทความคัดสรร
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2512
- นักร้องอเมริกัน
- มารายห์ แครีย์
- นักแสดงอเมริกัน
- โปรดิวเซอร์เพลงชาวอเมริกัน
- ผู้ที่ได้รับรางวัลแกรมมี
- ศิลปินสังกัดโคลัมเบียเรเคิดส์
- ศิลปินสังกัดเวอร์จิ้นเรเคิดส์
- ศิลปินสังกัดไอแลนด์เรเคิดส์
- นักร้องเสียงโซปราโน
- ผู้กำกับมิวสิกวิดีโอชาวอเมริกัน
- ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา
- ชาวอเมริกันเชื้อสายไอริช
- ชาวอเมริกันเชื้อสายเวเนซุเอลา
- บุคคลจากรัฐนิวยอร์ก
- บุคคลจากลองไอแลนด์